เวลาเขียนภาษาอังกฤษ เคยสับสนไหมว่า เอ…คำนี้ต้องใช้ capital letter (ตัวอักษรใหญ่) ไหมนะ เช่น จะเขียน Mother’s Day หรือ mother’s day ดี หรือระหว่าง Oxford Street กับ Oxford street เขียนแบบไหนถึงจะถูกต้อง บทความนี้จะทำให้คุหายสับสนว่ากรณีไหนบ้างต้องใช้ capital letter กรณีไหนบ้างไม่ต้องใช้
การใช้ capital letter ให้ถูกต้องนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้ใส่ใจเวลาพิมพ์แชทกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว แต่เวลาเขียนจดหมาย บทความ หรืองานเขียนใดๆ ที่เป็นทางการ การใช้ capital letter ที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เราดูไม่เป็นมืออาชีพ หรืออาจทำให้สื่อสารผิดพลาดได้
การใช้ capital letter มีหลักง่ายๆ 5 ข้อ คือ
1. ใช้ capital letter เมื่อขึ้นต้นประโยค
นั่นคือ ตัวอักษรแรกของคำแรกในประโยคจะต้องเป็นตัวอักษรใหญ่ เช่น
- She watched Game of Thrones with me last night. (เธอดูมหาศึกชิงบัลลังก์กับฉันเมื่อคืนนี้)
- I met a girl this morning. Her name was Arya. (ฉันพบเด็กสาวคนหนึ่งเมื่อเช้านี้ เธอชื่ออาร์ยา)
แต่สำหรับประโยคที่ตามหลังเครื่องหมาย colon * (:) และ semicolon (;) ไม่ต้องใช้ capital letter เช่น
- He got what he deserved: he was dumped. (เขาได้รับในสิ่งที่สมควรได้ เขาถูกทิ้ง)
- Some people write with a pen; others write with a pencil. (บางคนเขียนด้วยปากกา แต่บางคนเขียนด้วยดินสอ)
* ยกเว้นภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน ให้ใช้ capital letter เมื่อขึ้นต้นประโยคหลังเครื่องหมาย colon
He got what he deserved: He was dumped.
ข้อยกเว้นอีกข้อคือคำว่า I (ฉัน) ต้องใช้ตัวอักษรใหญ่เท่านั้นไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของประโยค เช่น
Do I know you? (ฉันรู้จักคุณเหรอ)
2. คำนามเฉพาะ (proper noun)
ให้ใช้ capital letter เมื่อเขียนคำนามเฉพาะ คำนามเฉพาะมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ได้แก่
- ชื่อ นามสกุล และคำนำหน้าชื่อ เช่น Jon Snow (จอน สโนว์), Mr Potter (คุณพอตเตอร์), Professor Dumbledore (ศาสตราจารย์ดัมเบิลดอร์)
- เดือนและวัน เช่น Sunday (วันอาทิตย์), Friday (วันศุกร์), February (เดือนกุมภาพันธ์), December (เดือนธันวาคม)
- ฤดู ได้แก่ Spring (ฤดูใบไม้ผลิ), Summer (ฤดูร้อน), Autumn/Fall (ฤดูใบไม้ร่วง), Winter (ฤดูหนาว)
- วันสำคัญ เช่น Mother’s Day (วันแม่), Christmas (วันคริสต์มาส), New Year’s Day (วันปีใหม่), Valentine’s Day (วันวาเลนไทน์)
- ชื่อประเทศ เช่น Thailand (ประเทศไทย), England (ประเทศอังกฤษ), Scotland (ประเทศสก็อตแลนด์), France (ประเทศฝรั่งเศส)
- ชื่อรัฐ ชื่อเมือง และชื่อเขตการปกครองต่างๆ เช่น California (รัฐแคลิฟอร์เนีย), London (กรุงลอนดอน), Edinburgh (กรุงเอดินบะระ), Oxfordshire (มณฑลอ๊อกซฟอร์ดเชอร์)
- ชื่อแม่น้ำ ทะเล ทะเลสาบ และมหาสมุทร เช่น the Thames (แม่น้ำเทมส์), the Mekong (แม่น้ำโขง), the Pacific (มหาสมุทรแปซิฟิก)
- ชื่อพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ต่างๆ เช่น the Bosphorus (ช่องแคบบอสฟอรัส), the Himalayas (เทือกเขาหิมาลัย), the Alps (เทือกเขาแอลป์), the Sahara (ทะเลทรายสะฮารา)
- ชื่อสัญชาติและภาษา เช่น Thai (คนไทย ภาษาไทย), English (คนอังกฤษ ภาษาอังกฤษ), Italian (คนอิตาเลียน ภาษาอิตาเลียน)
- ชื่อถนน ตึก สวน และสิ่งก่อสร้างต่างๆ เช่น the Empire State Building (ตึกเอ็มไพร์สเตต), Central Park (สวนสาธารณะเซ็นทรัลพาร์ค), the Eiffel Tower (หอไอเฟล)
3. ชื่อเรื่อง เช่น ชื่อหนังสือ ชื่อบทความ
ใช้ตัวอักษรใหญ่ขึ้นต้นคำประเภท noun (คำนาม), verb (คำกริยา), adjective (คำคุณศัพท์), adverb (คำวิเศษณ์), subordinating conjunction (เช่น because, that, as) แต่ไม่ต้องใช้ตัวอักษรใหญ่ขึ้นต้นคำประเภท article (คำนำหน้านาม ได้แก่ a, and, the), preposition (คำบุพบท เช่น in, on, at), coordinating conjunction (เช่น for, and, but, or) ตัวอย่างเช่น“Harry Potter and the Cursed Child” (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเด็กต้องคำสาป)
จากตัวอย่างจะเห็นว่าทุกคำยกเว้น and และ the ขึ้นต้นด้วยตัวอักษรใหญ่
อย่างไรก็ตามบทความในปัจจุบันเริ่มนิยมใช้ capital letter แค่คำแรกของชื่อเท่านั้น เช่น “Energy solutions for a sustainable world”
นอกจากนี้ตามปกหนังสือหรือโปสเตอร์ภาพยนตร์ ชื่อเรื่องจะถูกเขียนเป็นตัวอักษรใหญ่ทั้งหมด เช่น “HARRY POTTER AND THE CURSED CHILD” ซึ่งการเขียนแบบนี้ก็ไม่ผิดอะไร แต่ถ้าเราไปเขียนชื่อเรื่องที่อื่น แนะนำให้เขียนตามหลักการเขียนชื่อเรื่องที่กล่าวมา
4. คำย่อต่างๆ
คำย่อต่างๆ โดยเฉพาะคำย่อชื่อนิยมใช้ capital letter ตัวอย่างเช่น
UN = United Nations (สหประชาชาติ)
NATO = North Atlantic Treaty Organization (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ)
ASEAN = Association of Southeast Asian Nations (สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
NATO = North Atlantic Treaty Organization (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ)
ASEAN = Association of Southeast Asian Nations (สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
แต่ก็ไม่ใช่ว่าคำย่อทุกคำจะใช้ตัวอักษรใหญ่ ตัวอย่างคำยกเว้น เช่น cm = centimetre/centimeter (เซนติเมตร) หรือบางคำย่อก็ใช้ตัวอักษรใหญ่เพียงบางตัวอักษร เช่น PhD = Doctor of Philosophy (ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต หรือผู้ที่ได้รับปริญญาเอก)
5. ใช้เพื่อเน้นคำ
ในกรณีนี้ผู้เขียนจงใจไม่เขียนตามหลักข้างต้นเพื่อเน้นคำ กลุ่มคำ หรือประโยคโดยการเขียนตัวอักษรใหญ่ทั้งหมด เช่น HELP! (ช่วยด้วย) STOP! (หยุดนะ) เมื่อลองเปรียบเทียบกับการเขียนแบบปกติ Help! Stop! จะเห็นว่าให้ความรู้สึกต่างกันเวลาอ่าน
การใช้ตัวอักษรใหญ่ทั้งหมดอ่านแล้วให้ความรู้สึกเหมือนเป็นการตะโกน ดังนั้นจึงไม่ควรเขียนตัวอักษรใหญ่ติดกันยาวๆ โดยไม่จำเป็น แบบนี้ I’M SO HAPPY TODAY. I GOT PROMOTED AND WON THE £14 MILLION LOTTERY JACKPOT. จะเห็นว่าอ่านยากและดูไม่สุภาพ ทั้งยังอาจทำให้ผู้อ่านรำคาญอีกด้วย
ลองทบทวนหลัก 5 ข้อนี้แล้วเอาไปใช้กันดูจริงๆ แล้วการใช้ capital letter ยังมีหลักยิบย่อยอีกหลายข้อ ดังนั้นเพื่อนๆ ควรจะอ่านข่าวหรือบทความภาษาอังกฤษเยอะๆ และสังเกตว่า capital letter ต้องใช้ในกรณีไหนบ้าง จะได้เขียนได้ถูกต้อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น